จากบ้านศาลาแดง สู่โรงแรมดุสิตธานี

จากบ้านศาลาแดง สู่โรงแรมดุสิตธานี

จากบ้านศาลาแดง สู่โรงแรมดุสิตธานี

บ้านศาลาแดง ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนสีลมด้านที่ตัดกับคลองเตย (คลองวัวลำพอง หรือคลองหัวลำโพง คือ ถนนพระราม ๔ ปัจจุบัน) เป็นบ้านตึกโอ่โถงแบบฝรั่ง ออกแบบโดยสถาปนิกชาวต่างประเทศ (สันนิษฐานว่าเป็นคนเดียวกับที่ออกแบบตึกบัญชาการของโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาในปัจจุบัน) รั้วและประตูหน้าต่างเป็นเหล็กดัดที่สั่งจากต่างประเทศ บ้านศาลาแดงมีเนื้อที่ทั้งสิ้น ๒๓ ไร่ ๓ งาน ๑๒ ตารางวา มีสนามหน้าบ้าน ภายในบริเวณมีเรือนหลายหลัง และมีสระน้ำอยู่ด้านหลัง

เดิมบ้านนี้เป็นบ้านฝรั่งชื่อ กัปตันวอแรน ซึ่งขายต่อให้พระคลังข้างที่ แล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เมื่อประมาณปี ๒๔๓๐ ต่อมา เจ้าพระยาสุรศักดิ์ฯ ได้รับพระราชทานเงินอีกก้อนหนึ่ง จึงซื้อที่ดินเพิ่มเติมจนมีเนื้อที่กว่า ๑๐๐ ไร่

จากบ้านศาลาแดง สู่โรงแรมดุสิตธานี
บ้านศาลาแดงด้านข้าง

ประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๐ เจ้าพระยาสุรศักดิ์ฯ ถวายบ้านคืนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยตนเองไปซื้อที่ดินและบ้านของพระประมวญประมาณพล (ชั้น บุญบัญลือ) ที่บางรัก บ้านหลวงหลังนี้จึงว่างอยู่จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานแก่เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และท่านผู้หญิงยมราช (ตลับ สุขุม) บ้านศาลาแดง จึงเป็นที่รู้จักว่าเป็นบ้านของเจ้าพระยายมราช เสนาบดีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัชกาลที่ ๖ ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ ๗ และหนึ่งในผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

หลังจากการพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยายมราชและท่านผู้หญิงตลับที่วัดเทพศิริทราวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ทายาทได้โอนขายบ้านศาลาแดงแก่กระทรวงการคลัง หลังจากนั้น อาคารในบริเวณบ้านศาลาแดงถูกใช้เป็นที่ทำการสมาคมต่าง ๆ หลายแห่ง อาทิ แพทยสมาคม สมาคมเภสัชฯ และสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ

ต่อมา เมื่อธุรกิจทวีความสำคัญขึ้น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมาหากษัตริย์ จึงร่วมลงทุนกับเอกชน รื้อถอนอาคารต่าง ๆ ในบ้านศาลาแดง เพื่อก่อสร้างโรงแรมใหญ่ที่ทันสมัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งก็คือ โรงแรมดุสิตธานี ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทยในสมัยนั้น โดยโรงแรมฯ เริ่มเปิดดำเนินการในปี ๒๕๑๓ และถือเป็น สัญลักษณ์แห่งยุคสมัยใหม่แห่งแรกของกรุงเทพฯ ตั้งโดดเด่นอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร

--------- อ้างอิงจาก: นางสาวอรวรรณ ศรีอุดม. วันวาน...กับวันนี้ของถนนสีลม. กรุงเทพมหานคร : บริษัท อมรินทร์พรินติ้งกรุ๊พ จำกัด. ๒๕๓๕. ที่มาของภาพ: โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ

Related Article